ต้นโพธิ์กับพระพุทธศาสนา

ต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นต้นไม้อันเป็นสถานที่ประทับและตรัสรู้บรรลุพระสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ด้วยสาเหตุนี้ต้นโพธิ์จึงเป็นพรรณไม้ที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในพุทธประวัติปรากฏต้นโพธิ์ที่เด่นชัดอยู่สองครา คือ เป็นสถานที่ตรัสรู้ ณ พุทธคยา ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งมีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่าต้นศรีมหาโพธิ์ ส่วนอีกครั้งหนึ่งคือต้นอานันทโพธิ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ซึ่งต้นโพธิ์ดังกล่าวยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน คำว่า “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” นั้นมีความหมายได้แตกต่างก่อนออกกันไป ไม่ว่าจะเป็นต้นโพธิ์ที่ตั้งอยู่ที่ พุทธคยา ต้นโพธิ์ที่เติบโตมาจากหน่อของโพธิ์ ณ พุทธคยา หรือต้นโพธิ์ที่ตั้งอยู่ภายในวัดต่าง ๆ ก็ได้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันมีอยู่สามต้นด้วยกัน ได้แก่ ต้นพระศรีมหาโพธิ์อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ต้นอานันทโพธิ์ ณ เมืองอนุราธปุระ และต้นอานันทโพธิ์ ณ วัดพระเชตวันมหาวิหาร อย่างไรก็ตามต้นโพธิ์พระเจ้าอโศกแห่งเมืองอนุราธปุระนำหน่อมาปลูกจากพุทธคยา ได้รับการเคารพสักการะและบูชามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๒๐๐๐ ปีแล้ว แตกต่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ในพุทธคยาที่ถูกโค่นลงและล้มลงตามธรรมชาติหลายครั้ง และต้นอานันทโพธิ์ที่วัดเชตวันที่ขาดการดูแลจากพุทธศาสนิกชนหลังจากที่พระพุทธศาสนาเสื่อมลงในประเทศอินเดีย
ต้นโพธิ์ที่ชาวลังกาเรียกว่า “Bohd Tree” หรือชาวอินเดียเรียกว่า “Pipal” มีความสำคัญประการแรกเมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญเพียรเพื่อค้นหาสัจธรรม พระองค์ทรงเลือกนั่งประทับใต้ต้นโพธิ์ จนกระทั่งพระองค์ได้ตรัสรู้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ คืออริยสัจ ๔ อันประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เมื่อวันเพ็ญเดือนหก อริยสัจ ๔ นี้หมายถึงความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ซึ่งเป็นแนวทางการดับทุกข์ แก้ไขปัญหา อย่างมีระบบ มีเหตุผล และรอบด้าน แม้พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็ยังทรงต้องฝึกฝนสมาธิสติเพื่อกำจัดกิเลสมารฝ่ายต่ำ โดยพระองค์ก็ทรงเลือกประทับใต้ต้นโพธิ์เช่นกัน กล่าวกันว่าต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับเพื่อรวบรวมจิตของพระองค์เพื่อให้บรรลุเข้าถึงสัจธรรมนั้นแม้จะได้ถูกทำลายไปแล้ว แต่ด้วยบุญญาธิการของพระองค์ เมื่อมีผู้ใดนำน้ำนมโคไปรดที่รากจะเกิดแขนงแตกแยกออกมาและมีชีวิตอยู่ต่อไป เมื่อตายแล้ว ก็จะแตกหน่อออกเพิ่ม จนในปัจจุบันถือได้ว่าต้นที่เหลืออยู่นั้นเป็นช่วงที่สามแล้ว
นอกจากนี้ต้นโพธิ์ที่วัดเชตวันมหาวิหาร หรือ อานันทมหาโพธิ์นั้น มีความเป็นมาว่า เมื่อวัดเชตวันได้กลายเป็นสถานที่ที่นำมาซึ่งความสะดวกสบายและความสงบมาสู่มนุษย์ได้ดียิ่งกว่าสถานที่อื่นใดอันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า แต่พระองค์ก็มิได้ประทับตลอดทั้งปี ในแต่ละปีพระพุทธองค์จะทรงประทับเพียง ๘
เดือนในพรรษา ส่วน ๔ เดือนที่เหลือของปีนอกฤดูฝน พระองค์จะเสด็จไปจารึกแสดงธรรมในชนบทและหัวเมืองอื่น ชาวนครสารัตถีจะทูลเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เป็นนิจ ไม่ปรารถนาให้พระองค์เสด็จไปประทับที่อื่น จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้พระองค์ประทับอยู่ได้ตลอดทั้งปี เมื่อพระองค์ต้องเสด็จไปยังสถานที่อื่น จะหาสิ่งใดแทนพระองค์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ เครื่องระลึกแทนได้ เมื่อความทราบไปถึงพระอานนท์เถระ จึงนำความกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทราบ พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้มีการปลูกโพธิ์ที่ตำบลพุทธคยาหน้าวัดเชตวันเพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ จนเป็นที่เคารพบูชาของคนทั้งปวง
พระโมคัลลานะ อัครสาวกฝ่ายซ้ายทราบความประสงค์ของพระองค์จึงเหาะไปยังตำบลพุทธคยาเพื่อนำผลสุขแห่งโพธิ์กลับมายังวิหารพระเชตวัน แล้วจึงปรึกษากันว่าผู้ใดควรเป็นผู้ปลูก เบื้องต้นชาวเมืองและพระสงฆ์พร้อมใจถวายแด่พระเจ้าปเสนโกศลเป็นผู้ทรงปลูก แต่พระองค์ได้ปฏิเสธ จนกระทั่งท้ายที่สุด อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้เป็นผู้ปลูก จากนั้นชาวเมืองก็ได้นิยมไปสักการบูชาต้นโพธิ์แทนพระพุทธเจ้า จึงเรียกชื่อกันว่าพระอานันทโพธิ์ เนื่องจากพระอานนท์เป็นผู้จัดการดูแลเรื่องการปลูกทั้งสิ้น ต้นโพธิ์ต้นนี้ยังมีอายุยืนอยู่ภายในวัดเชตวันวิหาร นครสาวัตถี ประเทศอินเดีย
จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ต้นโพธิ์นั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับพระพุทธศาสนา และเนื่องในปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นปีพุทธชยันตี หรือการเฉลิมฉลองการครบรอบ ๒๖๐๐ ปีการตรัสรู้ของพระองค์ พุทธศาสนิกชนทุกคนจึงควรร่วมกันส่งเสริมการศึกษาทำความเข้าใจพุทธประวัติไปพร้อมกับการศึกษาพรรณไม้อย่างต้นโพธิ์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น